Logo-รวมกลุ่ม-TH

โครงการสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” เป็นเครื่องมือใช้สำหรับการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหาร
ของผู้บริโภคเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล โซเดียม และไขมัน 

ความเป็นมา

                  ปัจจุบันทั่วโลกกำลังรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาน้ำหนักเกิน โรคอ้วน (Obesity) และโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นต้นทั้งนี้ “โรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน” ก็กำลังเป็นภัยคุกคามในประชากรไทยเช่นกัน โดยสามารถวัดได้จากอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ.2556 รายงานว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีจำนวนสูงถึง 4  ล้านคน (ร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด)  ซึ่งเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้น  ไม่เพียงเป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อนกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น  แต่ยังเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจนำมาสู่ความล่มสลายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในที่สุด  เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องจ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคต่างๆ ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2552 สูงถึง 5,580.8 ล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 2.01 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยอดเงินที่สูงขึ้นมาจากค่ายา และอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีราคาสูงและจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผลข้างเคียงของการใช้ยายังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายด้วย นอกจากนี้ การที่มีจำนวนผู้ป่วยมากยังกระทบต่อผลผลิตมวลรวมของชาติที่ลดลง หากผู้ป่วยอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งมักกำลังอยู่ในวัยที่ก้าวหน้าและเป็นกำลังสำคัญขององค์กร

               วิถีชีวิตแบบคนเมืองสมัยใหม่ ที่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารทีมีพลังงานและไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง รวมถึงการทำกิจกรรมทางกายและการบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป ล้วนมีผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงทั้งสิ้น การปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการจึงเป็นกลยุทธ์เชิงป้องกันที่สำคัญ ซึ่งภาครัฐต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผลอย่างเร่งด่วน เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว การที่ภาครัฐต้องการใช้อาหารเป็นกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ที่เพียงพอในการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายและสุขภาพของตน และต้องส่งเสริมให้มีอาหารซึ่งมีคุณค่าเหมาะสมที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและซื้อหาได้ ทั้งนี้ สังคมปัจจุบันผู้บริโภคมีการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารจึงกลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและให้ความรู้กับผู้บริโภคที่มีความสำคัญมาก และยังเป็นช่องทางที่สำคัญของผู้ผลิตในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าแก่ผู้บริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และโอกาสในการแข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ยังใช้ฉลากเป็นเครื่องมือในการติดตามและทวนสอบคุณภาพอาหารหลังจากออกสู่ท้องตลาดด้วย ทั้งนี้ ฉลากที่มีข้อมูลครบถ้วนและเข้าใจง่ายย่อมช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการเหมาะสม

ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหาร มี 2 ประเภท ได้แก่ ฉลากอาหาร และฉลากโภชนาการ

ฉลากอาหาร

           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร พ.ศ.2543 ให้คำนิยามของฉลากอาหารว่าคือ รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใดๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร (รวมถึงแผ่นพับและฉลากคอขวด) โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรง ต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ ข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหารนั้น สามารถจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ข้อมูลด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง คำเตือนต่าง ๆ (ในกรณีที่กฎหมายกำหนด)
  2. ข้อมูลด้านความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบ ซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนัก หรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ
  3. ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่างๆ
  4. ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย. (ในกรณีที่กฎหมายกำหนด) และตราสัญลักษณ์ต่างๆ

ฉลากโภชนาการ

ฉลากโภชนาการ คือ ส่วนหนึ่งบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการแสดงข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น โดยชนิดของสารอาหารที่ระบุ ได้แก่ ชนิดที่จำเป็นต้องบริโภคเพื่อป้องกันปัญหาโภชนาการขาด และจำกัดการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงของโรคโภชนาการเกิน ซึ่งมีการนำเสนอปริมาณที่มี เปรียบเทียบกับปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน สำหรับผู้ที่มีอายุ 6 ปีหรือมากกว่า ซึ่งต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี ตัวอย่างของฉลากโภชนาการ แสดงไว้ในภาพที่ 1

ประโยชน์ของการแสดงฉลากโภชนาการ คือ เป็นการให้ข้อมูลความรู้ทางโภชนาการแก่ผู้บริโภคในการเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อ และบริโภคอาหารตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและสุขภาพ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการกล่าวอ้างปริมาณสารอาหารในผลิตภัณฑ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความเข้าใจของผู้บริโภคต่อฉลากโภชนาการโดยนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 67.5 ไม่เคยอ่านฉลากโภชนาการ  และในจำนวนผู้อ่านฉลากโภชนาการ พบว่า ร้อยละ 32.5 อ่านฉลากโภชนาการไม่รู้เรื่อง  ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าฉลากโภชนาการยากเกินไป และทำให้ผู้บริโภคสับสน

ปัญหาดังกล่าวทำให้นักโภชนาการพยายามหาวิธีการนำเสนอฉลากโภชนาการในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และเป็นมิตรต่อผู้บริโภค โดยเน้นนำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาสุขภาพ ซึ่งเป็นที่มาของการทดลองใช้ฉลากจีดีเอ (GDA) ซึ่งแสดงบนส่วนหน้าบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภทที่กฏหมายบังคับใช้

ภาพที่ 1 ฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหาร

ฉลากจีดีเอ (GDA)

ฉลากจีดีเอ เป็นฉลากโภชนาการรูปแบบหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจคุณค่าโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยกำหนดให้แสดงปริมาณค่าของพลังงาน น้ำตาล  ไขมัน  และโซเดียมในหน่วยเมตริก (หน่วยของพลังงานเป็นกิโลแคลอรี) ของอาหารทั้ง  บรรจุภัณฑ์ (1 ซอง/ 1 กล่อง) ในรูปทรงกระบอกเรียงติดกัน 4 รูป และช่วงล่างใต้รูปทรงกระบอกแสดงค่าร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน

ภาพที่ 2 ฉลากจีดีเอ

ปัจจุบันฉลาก จีดีเอ ได้บังคับใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร 13 ชนิด คือ

  • อาหารขบเคี้ยว (บางชนิด)
  • ช็อคโกแลตและขนมหวานรสช็อคโกแลต
  • ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (บางชนิด)
  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บางชนิด)
  • อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว (ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาการจำหน่าย)
  • (ใหม่) เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท
  • (ใหม่) ชาปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและแห้ง
  • (ใหม่) กาแฟปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและแห้ง
  • (ใหม่) นมปรุงแต่ง
  • (ใหม่) นมเปรี้ยว
  • (ใหม่) ผลิตภัณฑ์ของนม
  • (ใหม่) น้ำนมถั่วเหลือง
  • (ใหม่) ไอศกรีมพร้อมบริโภค

ประโยชน์ของ ฉลาก จีดีเอ คือ

  • แสดงข้อมูลโภชนาการตรงไปตรงมา ไม่ทำให้ผู้บริโภคสับสนและสังเกตง่าย
  • เปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ได้ทันทีจากตัวเลขด้านหน้า
  • ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบตัวเองในการบริโภคอาหารอย่างสมดุล

ฉลากโภชนาการแบบง่ายต่อการตัดสินใจ (Presumptive Labeling)

การสื่อสารฉลากทางโภชนาการที่ลดความซับซ้อนลงให้กับผู้บริโภคอาจเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมมากขึ้น โดยการออกสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย (Simplified Logo) ที่แสดงคุณสมบัติทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลามาก เนื่องจากผลการศึกษาทางการตลาดแสดงว่าผู้บริโภคใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการพิจารณาฉลากก่อนซื้อ

ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศจึงได้มีการศึกษาและใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายแสดงบนฉลากด้านหน้าผลิตภัณฑ์อาหาร โดยสัญลักษณ์เหล่านั้น อาจแสดงในเชิงวิเคราะห์ข้อมูลและชี้นำตามชนิดของสารอาหารโดยใช้เกณฑ์ความต้องการสารอาหารของ FAO/WHO หรือ แสดงผลการตัดสินใจด้วยเกณฑ์ปริมาณสารอาหารที่กำหนดขึ้นตามชนิดของผลิตภัณฑ์อาหารและชี้นำในภาพรวมของผลิตภัณฑ์อาหารว่าดีกว่า/มีผลเสียน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในท้องตลาด (Healthier choice)  เช่น สัญลักษณ์ choice หรือสัญลักษณ์รูกุญแจเป็นต้น

สัญลักษณ์และเกณฑ์ซึ่งกำหนดขึ้นจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และแม้แต่ภาคเอกชนเอง ก็ได้รับการยอมรับและการต่อต้านจากภาคส่วนต่างๆในระดับที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้มาตรการรุกเชิงบวก (Positive approach) สามารถสร้างความร่วมมือได้มากกว่ามาตรการรุกในเชิงลบ (Negative approach) และนำไปสู่จุดประสงค์ที่ต้องการให้มีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการที่ดีออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้มีคุณค่าโภชนาการเหมาะสมขึ้นออกสู่ท้องตลาด

ทั้งนี้ สัญลักษณ์ประเภท Healthier choice ได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนเพราะไม่มีการจัดให้เป็นอาหารดีหรือเลว และผู้บริโภคไม่ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อนาน เนื่องจากผ่านการตัดสินจากเกณฑ์แล้ว  จากหลักการดังกล่าวทำให้สัญลักษณ์ Healthier choice กลายเป็นมาตรฐานเชิงสมัครใจโดยปริยาย ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคเอกชนให้ความร่วมมือและมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น

ภาพที่ 3 ตัวอย่างสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายที่ใช้ในประเทศต่างๆ

ภาพที่ 4 ตัวอย่างฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจร

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย (Healthier Choice)

กลุ่มอาหาร TH

ภาพที่ 5 รูปแบบฉลากโภชนาการอย่างง่าย ประเทศไทย

               เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมผ่านเกณฑ์ที่กำหนดของกลุุ่มอาหารนั้นๆ เป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม โดยการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายบนฉลากอาหารเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 373 (พ.ศ. 2559) เรื่องการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร ซึ่งได้ปีะกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ฉลากโภชนาการอย่างง่าย มิได้เป็นเครื่องหมายบังคับ เป็นเพียงความสมัครใจ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายนี้ต้องผ่านเกณฑ์คุณค่าทางโภชนาการที่ลดความเสี่ยงของการเป็นโภคไม่ติดต่อเรื้อรังจากทางบริโภคอาหาร เป็นเพียงทางเลือกให้ผู้บริโภค และไม่ใช่การโฆษณาสินค้าหรือจัดอันดับอาหารว่าดีหรือไม่ดี แต่มุ่งให้ความรู้กับผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ

ประโยชน์ของสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย (Healthier Choice)

  • เป็นเครื่องมืออย่างง่ายให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม
  • เป็นสื่อการศึกษาให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ประชาชน
  • ตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพตนเอง
  • สามารถลดต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการได้